บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

แนวคิดฟิสิกส์ใหม่

สำหรับฟิสิกส์ใหม่นั้น มีระบบแนวคิดที่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์เก่าโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าหาความรู้ของไอน์สไตน์

เมื่อไอน์สไตน์คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น ไอน์สไตน์ไม่ได้วิธีการทดลองหรือสังเกตประสบการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไอน์สไตน์ใช้วิธีคิดล้วนๆ ว่า ถ้าเอานาฬิกาไปตั้งตามจุดต่างๆ ในจักรวาลแล้ว นาฬิกาจะเดินยังไง

แล้วก็ใช้หลักการของฟิสิกส์และคณิตศาสตร์เข้าไปพิสูจน์  เมื่อพิสูจน์ได้แล้วก็เผยแพร่ทฤษฎีของตนออกมา

ในระยะแรกๆ นั้น ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเชื่อ  เมื่อเซอร์เอ็ดดิงตันพิสูจน์ได้ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งจริง เมื่อเกิดสุริยุปราคาขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงหันมายอมรับทฤษฎีสัมพัทธภาพ 

แต่ก็เป็นข้อสังเกตว่า ไอน์สไตน์ไม่ได้รับรางวัลโนเบลเพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่ได้จากทฤษฎีอื่น ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า คณะกรรมการผู้พิจารณาให้รางวัลโนเบลก็ยังคงมีความคลางแคลงในทฤษฎีสัมพัทธภาพอยู่ดี

จะเห็นได้ว่า ฟิสิกส์ใหม่ไม่ได้ใช้ระบบเหตุผลตามวิทยาศาสตร์เก่า เพราะ ถ้าใช้ระบบเหตุผลตามวิทยาศาสตร์เก่าก็ไม่สามารถจะค้นพบได้ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง เพราะ จักรวาลโค้ง และเวลาไม่ได้แน่นอนตายตัวอย่างที่นิวตันเชื่อ แต่ขึ้นอยู่กับกาลาวกาศ คือ ขึ้นอยู่กับสถานที่และความเร็วของแต่ละคน

กล่าวให้ชัดเจนก็คือ เวลาของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ไม่แตกต่างกันจนสามารถวัดได้ในโลกมนุษย์นี้

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจอีกตัวอย่างหนึ่ง คือระบบ GPS ระบบนี้ ใช้ดาวเทียมเป็นเครื่องชี้ว่า สิ่งของที่ใช้ระบบนี้อยู่ อยู่แห่งใดในโลก เช่น ถ้ารถยนต์คันหนึ่งมีระบบ GPS อยู่  ไม่ว่ารถยนต์คันนี้จะไปอยู่แห่งหนใด ดาวเทียมก็จะชี้ตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ ถ้าใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพ

แต่ถ้าใช้ทฤษฎีของนิวตันจะชี้ตำแหน่งของรถผิดไปหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว  เพราะ เวลาบนดาวเทียมกับเวลาบนโลกเดินไม่เท่ากัน และต้องคำนึงด้วยว่า เมื่อดาวเทียมเคลื่อนที่ไป ความเร็วไม่ได้คงที่ตลอดไป ดังนั้น ในการคำนวณตำแหน่งของรถยนต์จึงต้องมีสูตรที่สลับซับซ้อน

โดยสรุป
วิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนของกาลิเลโอ นิวตันและ เดสคาร์ตเป็นของล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบันนี้ 

ข้าวของเครื่องใช้สมัยใหม่ๆ ในปัจจุบันใช้หลักการของฟิสิกส์ใหม่เกือบทั้งหมด  แต่ในบางกรณีนั้น เช่น การส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังใช้สูตรของนิวตันอยู่ เพราะ คิดง่ายกว่า ไม่สลับซับซ้อนดังเช่นสูตรของไอน์สไตน์ ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกัน

สาขาวิชาการต่างๆ ในศาสตร์ตะวันตกนั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวะ เคมี สังคมวิทยา ฯลฯ รวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วยแตกแยกย่อยออกมาจากปรัชญา (Philosophy)  เมื่อวิทยาศาสตร์เก่าเข้ามาในประเทศไทย ปรัชญาตะวันตกก็เข้ามาด้วย 

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ปรัชญาตะวันตกนั้น เมื่อจะคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ต้องใช้ตรรกวิทยา (logic) เป็นเครื่องมือในการคิดค้นและหา  อิทธิพลของปรัชญาตะวันตกจึงทำให้องค์ความรู้ใดๆ ก็ตาม ที่เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีเหตุผล (reason) ถูกขจัดออกไปจากแวดวงวิชาการ โดยถือว่า ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น

แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าและปรัชญาตะวันตกจึงทำให้พุทธวิชาการตีความเนื้อหาของพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนกลายเป็นเรื่องแต่ง/เรื่องเล่า (Myth) ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องแต่ง/เรื่องเล่า (Myth)  เพื่อต้องการให้คนทำความดีตามอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองในแต่ละยุค

นรก-สวรรค์ พรหม อรูปพรหม ฯลฯ จึงถูกขจัดออกไปเนื่องจากแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าและปรัชญาตะวันตกเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาเพียงชาติเดียวเท่านั้น”   และมนุษย์สามารถกระทำความดีได้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบความเป็นเหตุผล (Rationality)

อย่างไรก็ดี เมื่อฟิสิกส์ใหม่เข้ามาแทนที่วิทยาศาสตร์เก่า และองค์ความรู้ที่เป็นความเชื่อของฟิสิกส์ใหม่หลายอย่างหลายประการ เมื่อเปรียบเทียบในมุมมองของวิทยาศาสตร์เก่าแล้วดูเหมือนจะไม่น่าเชื่อเสียยิ่งกว่าเรื่องนรก-สวรรค์ พรหม อรูปพรหม ฯลฯ เสียอีก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนดังนี้

1) องค์ความรู้ฟิสิกส์ใหม่ เชื่อว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างพาหนะที่มีความเร็วมากกว่าแสง หรือใกล้ๆ ความเร็วแสงได้ มนุษย์สามารถกลับเข้าไปในอดีตได้ และสามารถไปเปลี่ยนแปลงอดีตได้อีก 

ถึงแม้แนวความคิดจะมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งพยายามพิสูจน์ว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของไอน์สไตน์เอง แต่ก็มีผู้เชื่อแนวความคิดนี้เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จาก ภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่มาฉายในเมืองไทยนั้น มีแนวคิดทำนองนี้มากมายหลายเรื่อง

2) องค์ความรู้ฟิสิกส์ใหม่ เชื่อว่า ในจักรวาลของเรามีหลุมดำ (Black Hole) ซึ่งมีแรงดึงดูดมหาศาล สามารถดึงดูดได้แม้กระทั่งแสง ดังนั้น ไม่ว่าหลุมดำ (Black Hole) จะอยู่ใกล้โลกสักเพียงไหน มนุษย์บนโลกก็ไม่สามารถมองเห็นหลุมดำได้เลย

3) องค์ความรู้ฟิสิกส์ใหม่ เชื่อว่า ในจักรวาลของเรามีรูหนอน (Worm Hole) ที่สามารถจะย่นระยะทางระหว่างจักรวาลให้สั้นลงได้ ความเชื่อที่แปลกประหลาดพิลึกพิลั่นก็คือ ก่อนที่เราจะก้าวเข้าไปในรูหนอนดังกล่าวนี้ เรากลับมาก่อนแล้ว

จะเห็นได้ว่า ถ้าเรานำเรื่องดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไปบรรยายให้นักวิชาการในยุคสมัยรัชกาลที่ 4-8 ฟัง นักวิชาการก็คงจะลงความเห็นกันว่า เราเป็นคนบ้าเสียแน่แท้ และบ้ามากกว่าพวกที่เชื่อนรก-สวรรค์เสียอีก

เมื่อพิจารณาเรื่องการย้อนเวลากลับไปในอดีต เรื่องหลุมดำ เรื่องรูหนอนของฟิสิกส์ใหม่กับเรื่องนรก-สวรรค์ พรหม อรูปพรหม การเวียนว่ายตายเกิดของพุทธศาสนา โดยมุมมองและแนวคิดของนักวิชาการในยุคสมัยรัชกาลที่ 4-8 จะเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเหล่านั้น ไม่เป็นความจริงทั้งคู่

กล่าวคือ ฟิสิกส์ใหม่ก็ไม่เป็นความจริง ศาสนาพุทธก็ไม่เป็นความจริง แต่ปัจจุบัน นักวิชาการรู้แล้วว่า ฟิสิกส์ใหม่เป็นความจริงกว่าวิทยาศาสตร์เก่า แล้วนักวิชาการก็หันไปเชื่อฟิสิกส์ใหม่กันหมดทั้งโลก  เราเองยังจะเชื่อถืองมงายว่าวิทยาศาสตร์เก่าดีกว่า เป็นจริงกว่าศาสนาพุทธอีกหรือ?

พุทธวิชาการในประเทศไทยในยุคสมัยใหม่จึงถือว่าเป็นพุทธวิชาการที่โชคร้ายมาก เนื่องจากเกิดมาในยุคที่มีการตีความเนื้อหาของพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไปตามศาสตร์ตะวันตก

เมื่อฟิสิกส์ใหม่ได้โค่นองค์ความรู้ (body of knowledge) ของวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนให้เป็นความจริงเฉพาะที่ (particular truth) ไม่ใช่ความจริงสากล (general truth) อย่างที่เข้าใจผิดกันมา 

พุทธศาสนิกชนในยุคปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นยุคหลังสมัยใหม่ (post modern) จึงต้องหันกลับมาทบทวนองค์ความรู้ (body of knowledge) ของพุทธเถรวาทกันใหม่

การทบทวนองค์ความรู้ (body of knowledge) ของพุทธเถรวาทใหม่นั้น ต้องถึงกับรื้อ-สร้าง (deconstruction) กันใหม่เลยทีเดียว

เครื่องมือที่จำเป็นและขาดไม่ได้เลยก็คือ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ (Linguistics) เพราะสาขาวิชานี้ได้พัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาล สามารถนำไปเป็นเครื่องมือวิเคราะห์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฏีกา อนุฏีกา คัมภีร์ทางศาสนาฯ ได้เป็นอย่างดี...

บทความในชุดเดียวกัน



แนวคิดวิทยาศาสตร์

สำหรับแนวคิดที่สอง คือ แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์

แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนของกาลิเลโอ นิวตันและ เดสคาร์ต และแนวคิดแบบฟิสิกส์ใหม่ ซึ่งมีองค์ความรู้ที่แหวกกรอบหรือมีลักษณะที่ขัดแย้งกับองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เก่าเป็นอย่างมาก

นักวิชาการกำหนดนับยุคของแนวคิดแบบฟิสิกส์ใหม่ นับตั้งแต่ไอน์สไตน์ (Einstein) ได้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relative theory) เป็นต้นมา

แนวคิดวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอน

แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่ามีความเชื่อว่า องค์ความรู้ (body of knowledge) ที่เป็นความจริง น่าเชื่อถือ เป็นมาตรฐานสากลนั้นจะต้องเกิดจากประสบการณ์ที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ หู ตา จมูก ลิ้น และ กายเท่านั้น 

และองค์ความรู้เหล่านั้นจะต้องมีความเป็นเหตุผล (Rationality) ตามหลักตรรกวิทยานิรนัย (deductive) หรือหลักตรรกวิทยาอุปนัย (inductive)  หรือจากตรรกวิทยาทั้ง 2 ระบบรวมกัน

แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่ามีความแตกต่างไปจากแนวคิดของปรัชญา กล่าวคือ นักปรัชญาจะใช้วิธีคิดโดยระบบเหตุผลอย่างเดียว จะไม่ไปทดลอง หรือไปหาประสบการณ์ใดๆ แต่จะคิดพิจารณาจากข้อมูลที่ได้มาเท่านั้น

ส่วนวิทยาศาสตร์เก่านอกจากจะใช้ระบบเหตุผลแล้ว ความรู้ที่เป็นความจริงจะต้องเกิดจากประสบการณ์ด้วย ซึ่ง อาจจะเป็นการทดลอง สังเกต สัมภาษณ์ ฯลฯ เป็นต้น

ความเป็นมาของแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าข้างต้นมีความเป็นมาดังนี้

วิชาการทั้งหลายในโลกตะวันตกต่างก็แยกออกมาจากปรัชญาตะวันตกทั้งสิ้น ก่อนหน้าที่จะมีวิชาการแยกออกเป็นสาขาต่างๆ นั้น มีการศึกษาเฉพาะปรัชญาอย่างเดียว

เมื่อมีการศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเจาะลึกมากยิ่งขึ้น และมีผู้มีความเชี่ยวชาญในเฉพาะสาขามากขึ้น มีการเขียนหนังสือเพื่อความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) มากขึ้น ก็แยกออกมาตั้งเป็นสาขาวิชาของตนเอง เช่นวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา เป็นต้น

ในทางทฤษฎีความรู้/ญาณวิทยา (Epistemology) มีนักปรัชญาแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ตามความเชื่อในวิธีการหาความรู้คือ เหตุผลนิยม (rationalism) และประสบการณ์นิยม (empiricism)

พวกเหตุผลนิยมเชื่อว่า ความรู้ที่เป็นความจริงจะได้จากกระบวนการคิดด้วยเหตุผล (reason) พวกประสบการณ์นิยมเชื่อว่า ความรู้ที่เป็นความจริงจะได้จากประสบการณ์นิยม ทั้ง 2 กลุ่มก็ยังถกเถียงกันมาถึงปัจจุบัน

แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าได้นำเอาทั้งเหตุผลและประสบการณ์มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) ที่สามารถประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อย่างไรก็ดี วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีข้อบกพร่องเสียเลย เป็นต้นว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่ศึกษาหรือเกี่ยวข้องกับจริยธรรม หรือเวลาจะศึกษาสิ่งใดก็ศึกษาแบบแคบๆ  โลกจึงมีมลพิษเต็มไปหมด

หรือนักวิชาการเชื่อกันผิดๆ ว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการเดียวที่จะหาความจริงได้  ซึ่งจะได้กล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าซึ่งเข้ามาในประเทศไทยพร้อมๆ สนธิสัญญาบาวริ่ง (Bowring treaty) ประมาณปี พ.ศ. 2398  ได้ส่งผลกระทบต่อความเห็น/ความเชื่อของพุทธวิชาการในประเทศไทยเป็นอย่างมาก 

เกิดการตีความ (interpret) พระไตรปิฎกแบบใหม่อย่างหลากหลาย  ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อองค์ความรู้ของพุทธเถรวาทเป็นอย่างยิ่ง เช่น พุทธวิชาการเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาเพียงชาติเดียว นรก สวรรค์ พรหม อรูปพรหมไม่มี เป็นต้น

มีการตีความนิพพานแบบใหม่ ซึ่งหมายถึงว่า นิพพานไม่มีตัวตน หรือสูญไปเลย เป็นต้น 

เนื่องจากพุทธวิชาการมีโอกาสที่จะคิดค้นและตีพิมพ์ความเห็น/ความเชื่อของกลุ่มตนได้มากกว่าพุทธปฏิบัติธรรมและพุทธทั่วไป  ในวงวิชาการหรือแวดวงการศึกษาจึงดูเหมือนว่ากลุ่มความคิดของพุทธวิชาการจึงเป็นแนวคิดกระแสหลักของพุทธเถรวาทในประเทศไทยไปโดยปริยาย

แนวคิดของพุทธวิชาการจึงได้เบียดบัง กดทับทำให้มีความเห็น/ความเชื่อว่าแนวคิดของพุทธเถรวาทแบบเดิมซึ่งถูกต้องอยู่แล้วว่า ไม่จริง เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทันสมัย

[เนื่องจากในยุคที่วิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนได้รับความนิยมนั้น นักวิชาการกำหนดเรียกชื่อยุคนั้นว่า ยุคสมัยใหม่ (Modern) ปัจจุบันนี้ นักวิชาการกำหนดยุคว่า ยุคหลังสมัยใหม่ (Post Modern)]

ผลของการเผยแพร่ความเห็น/ความเชื่อของพุทธวิชาการดังกล่าว จึงทำให้พุทธวิชาการไม่เชื่อว่า นรก-สวรรค์มีจริงๆ เป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นมาหรือเป็นเรื่องมายา (myth) เพื่อต้องการให้คนทำความดีเท่านั้น...

บทความในชุดเดียวกัน



แนวคิดปรัชญาตะวันตก

มายาคติ (myth) ในที่นี้หมายถึง เรื่อง ไม่จริงแต่บุคคลกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เรื่องที่ว่านี้เป็นความจริง (truth)  ส่วนเรื่องที่เป็นความจริง  บุคคลในกลุ่มนี้กลับเชื่อว่า ไม่จริง” 

ส่วนศาสนาพุทธ หมายเฉพาะถึง ศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่เผยแพร่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

มายาคติในศาสนาพุทธ จึงหมายถึง ความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความถูกต้องตามความจริงของพุทธวิชาการในประเทศไทย  ที่มีการตีความพระไตรปิฎกแบบใหม่โดยได้รับอิทธิพลจากศาสตร์ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาและวิทยาศาสตร์แบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนของกาลิเลโอ นิวตันและ เดสคาร์ต

โดยทั่วๆ นักวิชาการยอมรับกันว่า พุทธเถรวาทนั้น เผยแพร่อยู่ในประเทศศรีลังกา ลาว พม่า รวมถึงเขมรด้วย แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่มีองค์ความรู้มากนักเกี่ยวกับศาสนาพุทธในประเทศเหล่านั้น จึงต้องจำกัดให้พุทธเถรวาทหมายถึงศาสนาพุทธเฉพาะในประเทศไทย

พุทธศาสนิกชนของพุทธเถรวาทมีหลักการในทางทฤษฎีว่า จะไม่ยอมแก้ไขพระไตรปิฎก ตามคำอนุญาตของพระพุทธเจ้าที่ว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ถ้าขัดกับกฎหมายหรือการปกครองของบ้านเมืองใดประเทศใดก็เปลี่ยนแปลงได้บ้าง

แต่ในทางปฏิบัติในปัจจุบัน พุทธวิชาการบางกลุ่มบางพวกตีความพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไปเป็นจำนวนมาก ด้วยอิทธิพลของศาสตร์ตะวันตก

ถ้าจะพูดหรือเขียนกันให้ถึงแก่นแล้ว วิชาการในสังคมไทยปัจจุบันได้ใช้หลักวิชาการจากศาสตร์ตะวันตกเป็นเครื่องมือในการศึกษาทั้งสิ้น

แม้กระทั่งวิชาภาษาไทย และวิชาวรรณคดีไทยเองก็ตาม  แต่แนวคิดซึ่งส่งผลให้มีการตีความศาสนาพุทธผิดเพี้ยนไปเกิดจากปรัชญาและวิทยาศาสตร์แบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนเป็นส่วนใหญ่

ในการที่จะให้เข้าใจกันดีขึ้นระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน ผู้เขียนจึงขออธิบายตัวตนของปรัชญาตะวันตกและวิทยาศาสตร์แบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนพอสังเขป ดังนี้

แนวคิดแรก คือ แนวคิดแบบปรัชญาตะวันตก

ปรัชญาตะวันตก เริ่มนับตั้งต้นกันตั้งแต่สมัยกรีก  สมัยกรีกนี้มาก่อนสมัยโรมัน กล่าวคือ เมื่ออารยธรรมของกรีกล่มสลายลงไปแล้ว อารยธรรมของโรมันก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทน

เปรียบเทียบกับสมัยนี้ ก็เช่นประเทศอังกฤษกับประเทศอเมริกา  ก่อนหน้านี้อังกฤษเป็นมหาอำนาจ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไป อเมริกาก็ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทน

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมุมมองของนักวิชาการตะวันตก  ถ้ามองในมุมมองของนักวิชาการ ตะวันออกแล้ว ก่อนหน้าที่กรีกจะเจริญในทางวิชาการนั้น  จีนและอาหรับมีความเจริญทางวิชาการมาก่อนหน้านั้นแล้ว และเจริญมากกว่ากรีกด้วย

แนวคิดของปรัชญาตะวันตกมีลักษณะของความเห็น/ความเชื่อว่า องค์ความรู้ (body of knowledge) ที่เป็นความจริง น่าเชื่อถือ เป็นมาตรฐานสากลนั้น จะต้องมีเหตุมีผลตามหลักตรรกวิทยานิรนัย (deductive) และหลักตรรกวิทยาอุปนัย (inductive)

นอกจากนั้นแล้วยังเชื่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีองค์ความรู้ (body of knowledge) ที่ค้นพบความเป็นจริงแท้ (absolute reality/ultimate reality) แล้ว 

ดังนั้น เมื่อจะค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ จึงควรหยิบหรือดึงเอาความรู้จากองค์ความรู้ต่างๆ มาผสมผสานกัน

ตั้งแต่กล่าวมาตั้งแต่ต้นและที่จะได้กล่าวต่อไป ผู้เขียนได้กล่าวถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับ จริงหลายคำ จึงต้องขออธิบายคำศัพท์เหล่านั้น เพื่อให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน ดังนี้

ความเป็นจริง (Reality)
ความเป็นจริง (reality) หมายถึง สภาวการณ์ที่เป็นจริงของโลก

นักปรัชญาบางกลุ่มเชื่อว่า มนุษย์สามารถค้นหาหรือพบความเป็นจริง (reality) ดังกล่าวได้ บางกลุ่มเชื่อว่า ไม่สามารถพบความเป็นจริง (reality) ได้ เพราะ พ้นความสามารถของมนุษย์

ความจริง (truth)
ความจริง (truth) หมายถึง ความรู้ที่ตรงกับความเป็นจริง (reality) ปัญหาสำหรับนักวิชาการก็คือ มนุษย์แต่ละกลุ่มแต่ละพวก ต่างกันเชื่อว่า ความจริง (truth) ของตนตรงกับ ความเป็นจริง (reality) แต่ของคนอื่นไม่ใช่

ปัญหาเรื่องความจริง (truth) จึงเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาวิทยาการในปัจจุบันนี้

ข้อเท็จจริง (fact)
สำหรับข้อเท็จจริง (fact) นั้น ไม่ยาก ก็คือ เหตุการณ์ที่มนุษย์ไปพบเห็นมาด้วยตนเอง จากประสบการณ์ที่ได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ  ตา หู จมูก ลิ้น และกาย

ความเป็นจริงแท้ (absolute reality/ultimate reality)
สำหรับ องค์ความรู้บางเรื่องในศาสนาพุทธ เช่น นิพพาน เป็นต้น นักวิชาการเห็นว่า สูงกว่าความเป็นจริง (Reality) ในโลกมนุษย์ จึงกำหนดชื่อให้ว่า ความเป็นจริงแท้ (absolute reality/ultimate reality)

หรือในหนังสือบางเล่มอาจจะเรียกว่า ความเป็นจริงสูงสุดหรือความจริงสูงสุด/ความจริงแท้ก็ได้ ซึ่งถ้ากล่าวถึงในแง่ของสาขาวิชาปรัชญาจะเรียนกันในสาขาอภิปรัชญา (metaphysics)

แนวคิดปรัชญาตะวันตกส่งผลให้มีทรรศนะแบบมนุษยนิยม (Humanism) ซึ่งถือว่า มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้โดยอาศัยความเป็นเหตุผล (Rationality) และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ

กล่าวง่ายๆ ก็คือ มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า (God) แต่อย่างใด

จากความคิด/ความเชื่อดังกล่าว นักปรัชญาชาวตะวันตก ผู้เป็นต้นคิดหลักการทางปรัชญาต่างๆ นั้น จำนวนมากเลยที่ไม่นับถือศาสนา นักปรัชญาบางท่านเช่น นิทเช่ เป็นต้น ถึงกับกล่าวว่า พระเจ้าตายแล้ว

ในสมัยที่ผู้เขียนกำลังเรียนวิชาปรัชญานี้อยู่  เพื่อนในห้องเรียนก็พูดแย้งว่า พระเจ้าตายแล้วหรือยังไม่ตาย ไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ คือ นีทเช่ตายแล้ว”...

บทความในชุดเดียวกัน