สำหรับฟิสิกส์ใหม่นั้น มีระบบแนวคิดที่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์เก่าโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าหาความรู้ของไอน์สไตน์
เมื่อไอน์สไตน์คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น ไอน์สไตน์ไม่ได้วิธีการทดลองหรือสังเกตประสบการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไอน์สไตน์ใช้วิธีคิดล้วนๆ ว่า ถ้าเอานาฬิกาไปตั้งตามจุดต่างๆ ในจักรวาลแล้ว นาฬิกาจะเดินยังไง
แล้วก็ใช้หลักการของฟิสิกส์และคณิตศาสตร์เข้าไปพิสูจน์ เมื่อพิสูจน์ได้แล้วก็เผยแพร่ทฤษฎีของตนออกมา
ในระยะแรกๆ นั้น ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเชื่อ เมื่อเซอร์เอ็ดดิงตันพิสูจน์ได้ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งจริง เมื่อเกิดสุริยุปราคาขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงหันมายอมรับทฤษฎีสัมพัทธภาพ
แต่ก็เป็นข้อสังเกตว่า ไอน์สไตน์ไม่ได้รับรางวัลโนเบลเพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่ได้จากทฤษฎีอื่น ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า คณะกรรมการผู้พิจารณาให้รางวัลโนเบลก็ยังคงมีความคลางแคลงในทฤษฎีสัมพัทธภาพอยู่ดี
จะเห็นได้ว่า ฟิสิกส์ใหม่ไม่ได้ใช้ระบบเหตุผลตามวิทยาศาสตร์เก่า เพราะ ถ้าใช้ระบบเหตุผลตามวิทยาศาสตร์เก่าก็ไม่สามารถจะค้นพบได้ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง เพราะ จักรวาลโค้ง และเวลาไม่ได้แน่นอนตายตัวอย่างที่นิวตันเชื่อ แต่ขึ้นอยู่กับกาลาวกาศ คือ ขึ้นอยู่กับสถานที่และความเร็วของแต่ละคน
กล่าวให้ชัดเจนก็คือ เวลาของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ไม่แตกต่างกันจนสามารถวัดได้ในโลกมนุษย์นี้
ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจอีกตัวอย่างหนึ่ง คือระบบ GPS ระบบนี้ ใช้ดาวเทียมเป็นเครื่องชี้ว่า สิ่งของที่ใช้ระบบนี้อยู่ อยู่แห่งใดในโลก เช่น ถ้ารถยนต์คันหนึ่งมีระบบ GPS อยู่ ไม่ว่ารถยนต์คันนี้จะไปอยู่แห่งหนใด ดาวเทียมก็จะชี้ตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ ถ้าใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพ
แต่ถ้าใช้ทฤษฎีของนิวตันจะชี้ตำแหน่งของรถผิดไปหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว เพราะ เวลาบนดาวเทียมกับเวลาบนโลกเดินไม่เท่ากัน และต้องคำนึงด้วยว่า เมื่อดาวเทียมเคลื่อนที่ไป ความเร็วไม่ได้คงที่ตลอดไป ดังนั้น ในการคำนวณตำแหน่งของรถยนต์จึงต้องมีสูตรที่สลับซับซ้อน
โดยสรุป
วิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนของกาลิเลโอ นิวตันและ เดสคาร์ตเป็นของล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบันนี้
ข้าวของเครื่องใช้สมัยใหม่ๆ ในปัจจุบันใช้หลักการของฟิสิกส์ใหม่เกือบทั้งหมด แต่ในบางกรณีนั้น เช่น การส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังใช้สูตรของนิวตันอยู่ เพราะ คิดง่ายกว่า ไม่สลับซับซ้อนดังเช่นสูตรของไอน์สไตน์ ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกัน
สาขาวิชาการต่างๆ ในศาสตร์ตะวันตกนั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวะ เคมี สังคมวิทยา ฯลฯ รวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วยแตกแยกย่อยออกมาจากปรัชญา (Philosophy) เมื่อวิทยาศาสตร์เก่าเข้ามาในประเทศไทย ปรัชญาตะวันตกก็เข้ามาด้วย
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ปรัชญาตะวันตกนั้น เมื่อจะคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ต้องใช้ตรรกวิทยา (logic) เป็นเครื่องมือในการคิดค้นและหา อิทธิพลของปรัชญาตะวันตกจึงทำให้องค์ความรู้ใดๆ ก็ตาม ที่เมื่อพิจารณาแล้วไม่มีเหตุผล (reason) ถูกขจัดออกไปจากแวดวงวิชาการ โดยถือว่า ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น
แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าและปรัชญาตะวันตกจึงทำให้พุทธวิชาการตีความเนื้อหาของพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนกลายเป็นเรื่องแต่ง/เรื่องเล่า (Myth) ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องแต่ง/เรื่องเล่า (Myth) เพื่อต้องการให้คนทำความดีตามอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองในแต่ละยุค
นรก-สวรรค์ พรหม อรูปพรหม ฯลฯ จึงถูกขจัดออกไปเนื่องจากแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าและปรัชญาตะวันตกเชื่อว่า “มนุษย์เกิดมาเพียงชาติเดียวเท่านั้น” และมนุษย์สามารถกระทำความดีได้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบความเป็นเหตุผล (Rationality)
อย่างไรก็ดี เมื่อฟิสิกส์ใหม่เข้ามาแทนที่วิทยาศาสตร์เก่า และองค์ความรู้ที่เป็นความเชื่อของฟิสิกส์ใหม่หลายอย่างหลายประการ เมื่อเปรียบเทียบในมุมมองของวิทยาศาสตร์เก่าแล้วดูเหมือนจะไม่น่าเชื่อเสียยิ่งกว่าเรื่องนรก-สวรรค์ พรหม อรูปพรหม ฯลฯ เสียอีก ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนดังนี้
1) องค์ความรู้ฟิสิกส์ใหม่ เชื่อว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างพาหนะที่มีความเร็วมากกว่าแสง หรือใกล้ๆ ความเร็วแสงได้ มนุษย์สามารถกลับเข้าไปในอดีตได้ และสามารถไปเปลี่ยนแปลงอดีตได้อีก
ถึงแม้แนวความคิดจะมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งพยายามพิสูจน์ว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของไอน์สไตน์เอง แต่ก็มีผู้เชื่อแนวความคิดนี้เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จาก ภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่มาฉายในเมืองไทยนั้น มีแนวคิดทำนองนี้มากมายหลายเรื่อง
2) องค์ความรู้ฟิสิกส์ใหม่ เชื่อว่า ในจักรวาลของเรามีหลุมดำ (Black Hole) ซึ่งมีแรงดึงดูดมหาศาล สามารถดึงดูดได้แม้กระทั่งแสง ดังนั้น ไม่ว่าหลุมดำ (Black Hole) จะอยู่ใกล้โลกสักเพียงไหน มนุษย์บนโลกก็ไม่สามารถมองเห็นหลุมดำได้เลย
3) องค์ความรู้ฟิสิกส์ใหม่ เชื่อว่า ในจักรวาลของเรามีรูหนอน (Worm Hole) ที่สามารถจะย่นระยะทางระหว่างจักรวาลให้สั้นลงได้ ความเชื่อที่แปลกประหลาดพิลึกพิลั่นก็คือ ก่อนที่เราจะก้าวเข้าไปในรูหนอนดังกล่าวนี้ เรากลับมาก่อนแล้ว
จะเห็นได้ว่า ถ้าเรานำเรื่องดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไปบรรยายให้นักวิชาการในยุคสมัยรัชกาลที่ 4-8 ฟัง นักวิชาการก็คงจะลงความเห็นกันว่า เราเป็นคนบ้าเสียแน่แท้ และบ้ามากกว่าพวกที่เชื่อนรก-สวรรค์เสียอีก
เมื่อพิจารณาเรื่องการย้อนเวลากลับไปในอดีต เรื่องหลุมดำ เรื่องรูหนอนของฟิสิกส์ใหม่กับเรื่องนรก-สวรรค์ พรหม อรูปพรหม การเวียนว่ายตายเกิดของพุทธศาสนา โดยมุมมองและแนวคิดของนักวิชาการในยุคสมัยรัชกาลที่ 4-8 จะเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเหล่านั้น ไม่เป็นความจริงทั้งคู่
กล่าวคือ ฟิสิกส์ใหม่ก็ไม่เป็นความจริง ศาสนาพุทธก็ไม่เป็นความจริง แต่ปัจจุบัน นักวิชาการรู้แล้วว่า ฟิสิกส์ใหม่เป็นความจริงกว่าวิทยาศาสตร์เก่า แล้วนักวิชาการก็หันไปเชื่อฟิสิกส์ใหม่กันหมดทั้งโลก เราเองยังจะเชื่อถืองมงายว่าวิทยาศาสตร์เก่าดีกว่า เป็นจริงกว่าศาสนาพุทธอีกหรือ?
พุทธวิชาการในประเทศไทยในยุคสมัยใหม่จึงถือว่าเป็นพุทธวิชาการที่โชคร้ายมาก เนื่องจากเกิดมาในยุคที่มีการตีความเนื้อหาของพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไปตามศาสตร์ตะวันตก
เมื่อฟิสิกส์ใหม่ได้โค่นองค์ความรู้ (body of knowledge) ของวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนให้เป็นความจริงเฉพาะที่ (particular truth) ไม่ใช่ความจริงสากล (general truth) อย่างที่เข้าใจผิดกันมา
พุทธศาสนิกชนในยุคปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นยุคหลังสมัยใหม่ (post modern) จึงต้องหันกลับมาทบทวนองค์ความรู้ (body of knowledge) ของพุทธเถรวาทกันใหม่
การทบทวนองค์ความรู้ (body of knowledge) ของพุทธเถรวาทใหม่นั้น ต้องถึงกับรื้อ-สร้าง (deconstruction) กันใหม่เลยทีเดียว
เครื่องมือที่จำเป็นและขาดไม่ได้เลยก็คือ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ (Linguistics) เพราะสาขาวิชานี้ได้พัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาล สามารถนำไปเป็นเครื่องมือวิเคราะห์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฏีกา อนุฏีกา คัมภีร์ทางศาสนาฯ ได้เป็นอย่างดี...
บทความในชุดเดียวกัน